มหิดลอินเตอร์ร่วมกับสถานฑูตสวีเดนจัดประชุมบทบาทหญิงไทยในการเมือง
มีนาคม 30, 2023 2023-04-26 9:21มหิดลอินเตอร์ร่วมกับสถานฑูตสวีเดนจัดประชุมบทบาทหญิงไทยในการเมือง
เมื่อวันพุธที่ 22 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา สาชาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกิจการทั่วโลก วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับสถานทูตสวีเดน ในหัวข้อ “บทบาทหญิงไทยในการเมืองไทย และวิธีแก้ปัญหาการปิดกั้นการเข้าถึงบทบาททางการเมืองของหญิงไทยเพื่อให้มีส่วนร่วมในการบริหารประเทศมากขึ้น” โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ Dr. Cecilia Rustrӧm-Ruin เอกอัครราชทูตสวีเดนด้านสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และหลักนิติธรรม, นางสาว ศิริภา อินทวิเชียร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์, นางสาวกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ คณะกรรมการบริหารคณะก้าวหน้าและอดีตสมาชิกรัฐสภา มาเข้าร่วมเสวนาและให้ข้อแนะนำการพัฒนาวิธีแก้ปัญหาต่าง ๆที่เกิดขึ้นกับนักการเมืองหญิงอย่างใกล้ชิดกับนักศึกษาในช่วงกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ
ในการสนทนาและถกปัญหาหลักที่ทำให้หญิงไทยไม่ได้รับโอกาส ในการเข้าถึงการเมืองไทยและการบริหารประเทศในครั้งนี้ เป็นประโยชน์แก่นักศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ในแง่ของการได้รับข้อมูลและประสบการณ์ตรงจากนักการเมืองหญิงไทยผู้มีศักยภาพ และเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่แนวหน้าของประเทศ จากข้อมูลการสนทนา ค่านิยม ความเชื่อ ค่าบัญญัติและวิถีไทย เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิความเหลื่อมล้ำทางอำนาจในเพศสภาพต่าง ๆในประเทศไทย นอกเหนือจากโครงสร้างทางวัฒนธรรมแล้ว นักการเมืองหญิงยังไม่ได้รับการสนับสนุนด้านทรัพยากรการเงินเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับนักการเมืองชาย การแบ่งลำดับชั้นและบทบาทของคนในพรรคการเมืองโดยใช้หลักการแบ่งแยกตามพื้นฐานเพศสภาพทำให้เกิดความไม่เสมอภาค การถูกล่วงละเมิดจากนักการเมืองชาย และการถูกด้อยค่าจากสื่อ เหล่านี้ได้ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางการเมืองไทยอย่างชัดเจน สรุปได้ว่าบริบทของนักการเมืองหญิงในประเทศไทยยังถือได้ว่าเป็นรองจากนักการเมืองชายและยังไม่ได้รับการยอมรับหรือได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปในแนวทางก้าวหน้า การสนทนายังครอบคลุมไปถึงความเหมือนและความแตกต่างเรื่องแนวความคิดและประสบการณ์การเมืองที่มีของนักการเมืองฝั่งประเทศยุโรปและประเทศไทย กิจกรรมในครั้งนี้มีนักศึกษาจากสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกิจการทั่วโลก วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดลเข้าร่วมกว่า 50 คน โดยคัดเลือกจากนักศึกษาที่มีเจตนาและความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศในอนาคต และมีความสนใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมในสังคม นักศึกษาถูกแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มหลักและได้รับมอบหมายให้พัฒนานโยบายการแก้ปัญหาการปิดกั้นการเข้าร่วมและการสนับสนุนทางการเมืองของนักการเมืองหญิง ในช่วงท้ายของกิจกรรม ฯพณฯ Jon Grondahl เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทยได้กล่าวขอบคุณและอำลาคณะผู้เข้าร่วมกิจกรรม และมีความประสงค์จะจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์เช่นนี้อย่างต่อเนื่องกับสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกิจการทั่วโลก วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล อีกในอนาคตต่อไป