วิทยาลัยนานาชาติ ม.มหิดลจับมือคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจัดประกวด SiIC- BioDesign Competition in Medicine & Health ครั้งแรกในไทย มุ่งแก้ปัญหาด้านการแพทย์และสุขภาพ
เมษายน 25, 2022 2022-04-25 13:48วิทยาลัยนานาชาติ ม.มหิดลจับมือคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจัดประกวด SiIC- BioDesign Competition in Medicine & Health ครั้งแรกในไทย มุ่งแก้ปัญหาด้านการแพทย์และสุขภาพ
วิทยาลัยนานาชาติ ม.มหิดลจับมือคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจัดประกวด SiIC- BioDesign Competition in Medicine & Health ครั้งแรกในไทย มุ่งแก้ปัญหาด้านการแพทย์และสุขภาพ
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจุฬธิดา โฉมฉาย คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ รองศาสตราจารย์แพทย์หญิง อัญชลี ตั้งตรงจิตร หัวหน้าภาควิชาปรสิตวิทยาพร้อมคณะผู้บริหารวิทยาลัยนานาชาติ และคณาจารย์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมเปิดตัว โครงการประกวดชีวการออกแบบทางการแพทย์และสุขภาพ : Siriraj & MUIC- BioDesign Competition in Medicine & Health (SiIC) ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยณ ห้องประชุมชั้น 7 อาคารอดุลยเดชวิกรม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และประชุมออนไลน์ผ่าน ZOOM
จากการที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมีการจัดการเรียนการสอนการสร้างนวัตกรรมและ prototype ผ่านแนวคิดแบบ Design Thinking หรือที่เรียกว่า BioDesign ขึ้นเป็นครั้งแรก จัดเป็นกิจกรรมการศึกษาแบบ Pi-Shape รับผิดชอบโดยภาควิชาปรสิตวิทยา ในขณะเดียวกันทางวิทยาลัยนานาชาติก็มีการจัดการเรียนการสอนแบบศิลปวิทยาศาสตร์ (Liberal Arts Education ) ซึ่งมุ่งเน้นให้บัณฑิตมีความคิดริเริ่ม บูรณาการข้ามศาสตร์ และประยุกต์ใช้ความรู้ผ่านการปฏิบัติจริง
ดังนั้น วิทยาลัยนานาชาติและคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจึงมีแนวคิดริเริ่มจัดทำโครงการ “Design Thinking : SiIC-BioDesign Prototype in Medicine and Health” เพื่อเป็นโครงการนำร่อง อันจะนำไปสู่การพัฒนาและบูรณาการการเรียนการสอนเชิงสหวิทยาการต่อไป โดยได้รับความร่วมมือจากภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกัน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ วิทยาลัยนานาชาติในการให้คำแนะนำและคำปรึกษา เพื่อแก้ไขและตอบโจทย์ปัญหาที่ได้กำหนดไว้เบื้องต้น โดยโครงการนำร่องในครั้งนี้ ได้กำหนดโจทย์ให้นักศึกษาสามารถเลือกสร้าง Prototype เพื่อจัดการปัญหาได้ 2 ประเภทด้วยกัน อันได้แก่ 1) การสร้าง Prototype เพื่อจัดการและรับมือกับปัญหาผลกระทบทางด้านสุขภาพอันมีที่มาจาก PM2.5 หรือ 2) การสร้าง Prototype ในการรับมือและจัดการการรอคิวรับบริการของผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลศิริราช และกำหนดให้กลุ่มการทำงานของนักศึกษาให้มีความร่วมมือกันจากนักศึกษาต่างสาขาวิชา โดยใน 1 กลุ่มทำงาน จะต้องมีอย่างน้อย 2 สาขาวิชาขึ้นไป สำหรับรางวัลการประกวดในครั้งนี้ ประกอบด้วย
1. รางวัลชนะเลิศ พร้อมทุนการศึกษาและเกียรติบัตร จำนวน 30,000 บาท
2. รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 พร้อมทุนการศึกษาและเกียรติบัตร จำนวน 10,000 บาท
3. รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 พร้อมทุนการศึกษาและเกียรติบัตร จำนวน 5,000 บาท
สำหรับการสร้าง Prototype เพื่อตอบโจทย์ที่ระบุไว้ในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นการสร้างเสริมประสบการณ์ผ่านการดูงานจากสถานที่จริง มีการทำ workshop เพื่อปรับแนวคิดอย่างเป็นระบบ อันจะนำไปสู่ผลลัพธ์เพื่อตอบโจทย์ที่ได้ตั้งไว้เท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างความตระหนักในการยอมรับถึงความแตกต่างของลักษณะสำคัญของแต่ละสาขาวิชาจากการที่ให้นักศึกษารวมกลุ่มโดยให้มีสมาชิกที่ศึกษาในสาขาที่แตกต่างกัน ทำให้นักศึกษาสามารถยอมรับความแตกต่างและเรียนรู้ที่จะเติมเต็มและต่อยอดความรู้และทักษะเชิงสหวิทยาการ สรรสร้างนวัตกรรมสิ่งใหม่ผ่านกระบวนการสร้าง Prototype ดังกล่าวนี้ด้วย โครงการนี้เป็นโครงการนำร่อง เพื่อนำ Prototype ที่ชนะการ Pitching ไปใช้เพื่อแก้ปัญหาที่ได้กำหนดขึ้น และในขณะเดียวกันก็นำขั้นตอนของโครงการนี้ ไปพัฒนาต่อยอดการเรียนการสอนเชิงบูรณาการแบบสหวิทยาการต่อไป