ย่อโลกมาไว้ที่ MUIC หลอมรวมความหลากหลายสู่ความเป็นหนึ่งเดียว คุยกับ รศ.ดร.ยิ่งยศ เจียรวุฑฒิ รองคณบดีฝ่ายการคลังและทรัพยากรบุคคล วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
ธันวาคม 14, 2023 2024-08-07 6:55ย่อโลกมาไว้ที่ MUIC หลอมรวมความหลากหลายสู่ความเป็นหนึ่งเดียว คุยกับ รศ.ดร.ยิ่งยศ เจียรวุฑฒิ รองคณบดีฝ่ายการคลังและทรัพยากรบุคคล วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
ย่อโลกมาไว้ที่ MUIC หลอมรวมความหลากหลายสู่ความเป็นหนึ่งเดียว คุยกับ รศ.ดร.ยิ่งยศ เจียรวุฑฒิ รองคณบดีฝ่ายการคลังและทรัพยากรบุคคล วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
นับวันเรายิ่งเห็นมนุษย์มีความต่างด้วยมิติที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ
ไม่ใช่ต่างแค่วัย เพศ เชื้อชาติ แต่อัตลักษณ์ของคนเรานับวันยิ่งหลากหลายมากขึ้นจนตามนิยามกันแทบไม่ทัน และแน่นอนว่าหนึ่งในองค์กรที่ต้องเจอกับความท้าทายนี้ก็ไม่พ้นสถาบันการศึกษาที่เป็นด่านหน้าของการพัฒนาคน
และหากจะพูดถึงสถาบันที่พร้อมเปิดกว้างเรื่องความหลากหลาย ต้องไม่ใช่เปิดกว้างแค่กับผู้เรียน แต่ต้องเริ่มสร้างวัฒนธรรมยอมรับความหลากหลายกันให้ได้ ตั้งแต่กลุ่มอาจารย์และบุคลากรในมหาวิทยาลัย
ชวนทุกคนอ่านบทสัมภาษณ์ รศ.ดร.ยิ่งยศ เจียรวุฑฒิ รองคณบดีฝ่ายการคลังและทรัพยากรบุคคล วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ MUIC ตัวแทนสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทยทำอย่างไรให้สามารถย่อโลกทุกส่วน แล้วรวมความหลากหลายให้ลงตัวได้อย่างไรในยุคที่โลกเต็มไปด้วยความต่าง
มองภาพรวมของไทย เมื่อความหลากหลายและแตกต่างเกิดขึ้นในสังคม
บางคนอาจจะมองประเด็นระดับโลกอย่างเรื่องความหลากหลาย (Diversity) และยอมรับความแตกต่าง (Inclusion) เป็นเรื่องที่คนเรายอมรับและเปิดกว้างได้ง่ายๆ เช่น ถ้าเราไม่แบ่งเพศ วัย การศึกษา เชื้อชาติ ก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร แต่รศ.ดร.ยิ่งยศ อยากชวนพวกมองภาพความแตกต่างว่าทุกวันนี้มันมีมิติมากกว่าที่คิด
“ที่ผ่านมาประเทศไทยยอมรับความแตกต่างได้อยู่ในระดับกลางๆ แต่ปรากฏว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความแตกต่างลงลึกไปกว่านั้น เดี๋ยวนี้สังคมไทยมองลึกไปกว่าเพศชาย-หญิง เรามองไปถึงเพศสภาพ LGBTQ+ และอื่นๆ ขณะที่บางคนมานั่งดูเรื่องอายุ ดูเรื่องศาสนา มีเรื่องของคนอ้วน คนผอม เท่านั้นยังไม่พอเรื่องของคนพิการล่ะ เรื่องของแนวความคิดก็เปลี่ยนอีก บางคนก็อาจจะมี ideology ที่แตกต่างจากเรา บางคนก็อาจจะมีปรัชญาการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนเรา มีคนที่ไม่อยากนับถือศาสนาแล้ว บางคนบอกว่าฉันเป็นคน extrovert อีกคนหนึ่งเป็นคน introvert ก็แตกต่างจากเราอีก” รศ.ดร.ยิ่งยศกล่าว
เมื่อความหลากหลายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สังคมไทยและสถาบันการศึกษาจึงกำลังเจอกับความท้าทาย แต่รศ.ดร.ยิ่งยศอยากให้สังคมเราใช้ประโยชน์กับเรื่ิองนี้กันให้ได้
“เดิมความแตกต่างในสังคมไทยของเรามีอยู่แล้ว แต่ว่าแบ่งแยกในภาพที่ค่อนข้างที่จะชัด 3-4 ประเด็น แต่หลายปีที่ผ่านมามันมีความลึกความละเอียด มีความซับซ้อนมากขึ้น ของเดิมเรายังไม่ได้ปิด gap และเจอของใหม่ที่มาเพิ่ม gap เข้ามาอีกเยอะ เพราะฉะนั้นก็เป็นความท้าทายของสังคมไทยที่จะต้องใช้ประโยชน์จากตรงนี้ให้ได้นะครับ
แล้วระดับมหาวิทยาลัย ผมมองว่าเป็นระดับที่มีความสำคัญที่สุดที่จะต้องมาให้ความสำคัญเรื่องนี้แบบจริงจัง เพราะมหาวิทยาลัยเป็น 4 ปีสุดท้ายที่น้องๆ เตรียมเข้าไปสู่ตลาดแรงงาน เป็นโอกาสสุดท้ายที่เขาจะได้อยู่ร่วมกับคนที่แตกต่าง ทั้งภายนอก ภายใน แนวความคิด แล้วเขาจะมีโอกาสใช้ประโยชน์จากตรงนั้น เข้าใจตรงนั้นได้มากที่สุด”
M-A-H-I-D-O-L + I-C หลอมรวมความหลากหลาย ให้เป็นหนึ่งเดียว
หากจะพูดถึงการยอมรับความหลากหลายในสถาบันการศึกษา คงมองแค่เรื่องของผู้เรียนไม่ได้ แต่วิทยาลัยนานาชาติต้องเริ่มจากการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่หลอมรวมความหลากหลายในกลุ่มบุคลากรและอาจารย์ในสถาบันการศึกษาให้ได้เสียก่อน
รศ.ดร.ยิ่งยศกล่าวว่า “ปกติองค์กรของรัฐจะมีบุคลากรคนไทยเสียส่วนใหญ่ แต่ที่ MUIC เกือบครึ่งเป็นต่างชาติ เรามีนักศึกษาที่มาจากเกือบจะ 40 ประเทศทั่วโลก หลากหลายเชื้อชาติหลากหลายแนวความคิดซึ่งเป็นความท้าทายมากนะครับ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบริหารจัดการและทำให้เกิด Inclusion ภายในองค์กร เราจึงมองตัวเราเองว่าเราเหมือนกับย่อโลกทั้งใบมาอยู่ในที่ MUIC แห่งนี้
วิทยาลัยนานาชาติ หรือ MUIC เราเน้นเรื่องของความหลากหลายมากเป็นพิเศษ จึงเกิดเป็น M-A-H-I-D-O-L + I-C วันนี้เราจะมาคุยกันถึงเรื่องของตัว I คือ Inclusion ซึ่งแปลว่าการหลอมรวมความหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน ปัจจุบันนี้ทีมผู้บริหารก็มาจากหลากหลายสาขาวิชา ทีมผู้บริหารนั้นมีสัดส่วนผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ห้องน้ำเราก็ปรับเปลี่ยนเป็น unisex แต่หัวใจสำคัญจริงๆ ของคำว่า Inclusion ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของการที่เราจะต้องทำให้พนักงานทุกคนมีความรู้สึกว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ เขาสามารถมาทำงานโดยแสดงตัวตนของเขาออกมาได้ เขาต้องมี Authenticity ของเขา
เราให้โอกาสบุคลากรแสดงความคิดเห็นสอบถามได้อย่างมีอิสระ อย่างเต็มที่ เรารับฟังหมด และหลายอย่างเราก็เอาไปปรับปรุง ผมคิดว่ามันคือจุดเริ่มต้นของการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่จะทำให้เกิดพลังที่มันยิ่งใหญ่”
และในมุมของการพร้อมรับความหลากหลายของผู้เรียน ทาง MUIC ก็ได้พัฒนาหลักสูตรที่พร้อมสร้างการเติบโตให้กลุ่มคนที่แตกต่าง “MUIC นั้นมี 17 หลักสูตร ซึ่งครอบคลุมทุกศาสตร์ทั้งวิทย์และศิลป์ เราให้ตัวแทนของแต่ละสาขาวิชามานั่งร่วมกัน ประชุมร่วมกันเพื่อออกแบบหลักสูตรที่เราเรียกว่า General Education นอกจากเรื่องของหลักสูตรแล้ว คือเรื่องของวิจัยเราจึงมีการสนับสนุนกลุ่มวิจัยแบบสหสาขา (Research Clusters) เพื่อเป็นกลไกในการสร้างความก้าวหน้าและความเป็นเลิศทางด้านวิชาการและวิจัย อีกทั้งยังให้ทุนสำหรับนักศึกษาเพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถเลือกเรียนได้หลากหลาย
และไม่ว่าผู้เรียนจะอยู่ในสาขาใดก็ตาม สามารถนั่งเรียนร่วมกับเพื่อนๆ ที่มาจากสาขาอื่นๆ ได้ นอกจากว่าคุณจะได้ Perspective ที่กว้างขึ้น หลากหลายแล้ว คุณยังได้เรียนรู้ด้วยซ้ำไปว่า แต่ละคนเขามีแนวความคิดอย่างไร
ความหลากหลาย สามารถสร้างความสำเร็จที่แตกต่าง
นับวันโลกเรารวมถึงประเทศไทยเองล้วนเผชิญหน้ากับปัญหาใหม่แทบทุกวัน รศ.ดร.ยิ่งยศ มองว่าการเปิดรับความแตกต่างช่วยให้เรามีเครื่องมือที่หลากหลายในการแก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ “โจทย์ปัญหาในปัจจุบันมันไม่ง่าย มันซับซ้อน เช่น PM2.5 ในทางวิทยาศาสตร์มองว่า PM2.5 มันเข้าไปทำลายร่างกายอย่างไร เพราะฉะนั้นทางแก้ก็ต้องใช้วิธีการทางการแพทย์ ทางด้านนักธุรกิจก็อาจจะไม่ได้มองอย่างนั้น ต้องมานั่งคำนวณว่ามันคุ้มไหมจะมาแก้สิ่งนี้ ทางด้านสังคมศาสตร์ก็อาจจะมองอีกแบบหนึ่ง แต่ว่าพอเราเอาคนที่มีความแตกต่างมาจากหลากหลายสาขา หลากหลายมุมมอง เขาก็จะมองเรื่องเดียวกันในหลายๆ รูปแบบ ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้คือการเอาคนที่มีความหลากหลายนั่นแหละมาให้อยู่ร่วมกัน แล้วหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นและจริงๆ แล้วสถาบันการศึกษาสามารถสร้างคนให้ยอมรับความแตกต่างเพื่อหลอมรวมคนได้ในทุกวันตั้งแต่เรื่องเล็กๆ จนถึงการสร้าง Community “สิ่งที่ MUIC ได้ดำเนินการมาตลอดคือเรามีระบบ มีกระบวนการ แล้วเราเชื่อมั่นใจว่าการหลอมรวมความแตกต่างมันเกิดขึ้นจากการที่เขามาเรียนที่นี่ทุกวัน การที่เขาได้ร่วมกิจกรรมกับเพื่อนๆ ทุกวันต่างหาก แต่ถ้าจะต้องพูดถึงตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในเรื่องความหลากหลายใน MUIC ก็จะมีชมรม Case ชมรม Model United Nations ชมรม Debate หรือชมรม Volunteer เป็นต้น ซึ่งเป็นชมรมของนักศึกษา MUIC ที่มารวมตัวกันจากหลากหลายสาขาวิชาในทุกชั้นปี แล้วประสบความสำเร็จไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการในแขนงต่างๆ หรือทำงานร่วมกันเพื่อสังคม ได้รับรางวัลทั้งระดับในประเทศ และนานาชาติ และสุดท้ายที่ประสบความสำเร็จในระยะเวลาไม่นานที่ผ่านมานี้ก็คือชมรมเคส หรือ Case Club หลายคนอาจจะมองว่า Case Club น่าจะเป็นนักศึกษาที่มาจากสาขาวิชาหนึ่ง คำตอบคือไม่ใช่ ทุกคนมาจากสาขาหลากหลาย แล้วแต่ละคนก็มีมุมมองที่ต่างกันมาร่วมมือกัน ซึ่งการร่วมมือกันย่อมมีการขัดกันแน่นอน แต่ว่าแต่ละคนก็ต้องยอมรับในความแตกต่าง ชื่นชมความแตกต่าง และทำงานร่วมกันให้ประสบความสำเร็จ”
อนาคตที่ไร้ซึ่งความแตกต่าง
สุดท้ายนี้หลายคนคงรู้แล้วว่าเราจะต้องเจอกับความท้าทายจากระดับความแตกต่างที่มากขึ้น ดังนั้นประเทศไทยและองค์กรการศึกษาควรมองภาพให้ใหญ่กว่าที่เคย “ความหลากหลายมันจะลงลึกแล้วก็มีรายละเอียดมากขึ้น สิ่งสำคัญคือเราจะชื่นชมความหลากหลาย และนำความหลากหลายมาใช้ประโยชน์อย่างไร ผมคิดว่าเราจะต้องมองนักศึกษา มองลูกค้า มองผู้ชมของเราเป็น Global ไม่ใช่เป็น Local นะครับ”
“และเราต้องเชื่อมั่นว่าสิ่งนี้คือ Core values การที่เอาคนที่มีความแตกต่างกัน ทั้งเรื่องประชากรศาสตร์ ทั้งเรื่องแนวความคิด เอามารวมกันหลอมให้เป็นหนึ่งเดียวเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ยิ่งใหญ่ออกมาได้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นพลังของ MUIC ครับ”
มาเปิดประสบการณ์ ค้นหาความชอบ และสร้างตัวตนในสายอินเตอร์ จาก 17 สาขาวิชา กับรอบรับสมัครในวันที่ 8 – 23 มกราคม 2567
แหล่งข้อมูล/เครดิต: https://thematter.co/brandedcontent/muic_general-education/217599