มหิดลอินเตอร์จัดปาฐกถา บทบาทของสหภาพยุโรปในประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

09-MUICS-IRGA-Hosts-EU-Ambassadors-Lecture
ข่าวกิจกรรมที่ผ่านมา

มหิดลอินเตอร์จัดปาฐกถา บทบาทของสหภาพยุโรปในประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกิจการทั่วโลก (International Relations and Global Affairs) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol University International College (MUIC)) เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมปาฐกถาในหัวข้อ บทบาทของสหภาพยุโรปในประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (East Asia)  โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ นายเดวิด เดลี เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เป็นวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดการจัดกิจกรรมปาฐกถา

            ท่านทูตเดลีได้บรรยายให้นักศึกษาภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกิจการทั่วโลก (International Relations and Global Affairs) รับทราบเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของสหภาพยุโรป หน้าที่และความรับผิดชอบของกระทรวงการต่างประเทศของสหภาพยุโรป เพื่อปูพื้นฐานความรู้ความเข้าใจและความสำคัญของสหภาพยุโรปที่มีต่อประเทศต่างๆ ท่านทูตเดลียังได้กล่าวถึงความท้าทายในยุคร่วมสมัยและผลกระทบจากสงครามในยูเครนที่มีต่อประชาคมโลก และท่านได้ให้ความสำคัญในการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และตอบโจทย์แนวทางการพัฒนาและความต้องการของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน  อาทิเช่น นโยบายด้านพลังงาน นโยบายเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน นโยบายการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน และนโยบายความสงบสุขในน่านน้ำ นอกเหนือไปจากนี้ ท่านทูตเดลีได้อธิบายถึงนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหภาพยุโรปว่าจะต้องยึดหลัก สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย  และตัวบทกฎหมาย เป็นหลักในการเจรจาและสร้างความสมานฉันท์กับประเทศภาคี อย่างไรก็ตามท่านทูตเดลีได้เน้นย้ำถึงหลักการการเจรจาและท่าทีกับประเทศพันธมิตรว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และจำเป็นต้องมีการหารือร่วมกัน แลกเปลี่ยนซึ่งกันเพื่อสร้างความพึงพอใจและความเสมอภาคระหว่างประเทศภาคี การบรรยายได้ครอบคลุมไปถึงการตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิก (PCA) ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์จากการที่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ของสหภาพยุโรป ผ่านกรอบการหารือในด้านต่างๆ  และยกระดับมาตรฐานของไทยให้ทัดเทียมสากล  ในช่วงท้ายมีการเปิดให้ถามตอบเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศไทย โอกาสและความท้าทายของความสัมพันธ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (East Asia)  และลำดับความสำคัญของนโยบายของสหภาพยุโรปด้วย กิจกรรมปาฐกถาในครั้งนี้ประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี มีนักศึกษาและอาจารย์จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกิจการทั่วโลก (International Relations and Global Affairs) เข้าร่วมถึง 90คน ทั้งนี้ในเทอมการศึกษาถัดไปจะมีการจัดกิจกรรมสนทนาอีกครั้งในหัวข้อ ความขัดแย้งและความปลอดภัยในประเทศยูเครนอีกด้วย